‘สกศ.’ จัดเสวนาถกวิจัย ‘มรภ.กับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’
เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ ห้องเมย์แฟร์ เอ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา เรื่อง “มหาวิทยาลัยราชภัฏกับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ว่า หากทิศทางของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ชัดเจนสามารถดำเนินงานไปสู่เป้าหมายตามที่ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 กำหนดไว้ได้ และถ้า มรภ. สามารถผลักดันทำให้จังหวัดและบุคลากรในพื้นที่มีความเข็มแข็ง ประเทศชาติจะขึ้นดีตามไปด้วย ทั้งนี้ ผมหวังว่า รายงาน เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) วิจัยและจัดทำขึ้น จะเป็นโมเดลที่ดี สามารถพัฒนามหาวิทลัยราชภัฏ และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนได้ ต่อไปทาง สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ.จะรวบรวมข้อเสนอ และข้อคิดเห็นของทุกคน มาเป็นกรอบการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ และพัฒนาชุนชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.จตุพล ยงศร หัวหน้าภาควิชาการบริหารการศึกษาและอุดมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าวตอนหนึ่งในการนำเสนอ (ร่าง) รายงาน เรื่อง “การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ว่า ผู้วิจัยได้รับมอบหมายจาก สกศ. ให้เข้าไปศึกษาว่า เหตุใด มหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) 4 แห่ง คือ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.เลย มรภ.นครราชสีมา และ มรภ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกใน THE (Times Higher Education) Impact Rankings 2021 ที่ใช้วัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยทั่วโลกในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ(UN) โดยมีจุดมุ่งหมาย และแบ่งการวิจัยเป็น 4 ระยะ คือ 1.เข้าไปศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินการ 2.ศึกษาการดำเนินงาน 3.พัฒนารูปแบบการดำเนินงาน และ 4.ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการดำเนินงานตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย