เครดิตบูโรแจง 6 ประเด็น พรรคการเมืองชงนโยบาย “ยกเลิกแบล็กลิสต์”
จากกรณีที่มีข่าวพรรคการเมืองเตรียมชูนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ ปล่อยกู้ด้วยเครดิตสกอร์ริ่งมาแทนในระบบสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้ และรื้อระบบสินเชื่อทั่วประเทศนั้น (อ่านได้ที่ ‘กรณ์’ เสนอยกเลิกแบล็กลิสต์ เชื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องเลิกเงื่อนไขไม่เป็นธรรม) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ ผ่านเฟซบุ๊ค บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เรื่อง “ข้อเท็จจริงของผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ต่อนโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์“ โดยได้อธิบายและชี้แจงทั้งหมด 6 ประเด็น สรุปใจความ ดังนี้
1.ไม่มีส่วนใดในรายงานเครดิตบูโรที่จะระบุว่า บุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้รายนั้น เป็นคนที่ไม่สมควรจะคบค้าสมาคม ไม่สมควรจะทำธุรกิจด้วย หรือไม่สมควรที่จะได้สินเชื่อใหม่ที่กำลังยื่นขออยู่
2.รายงานเครดิตบูโรได้มาจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกโดยสมัครใจกับเครดิตบูโร ซึ่งก็มีหลายธนาคารต่างประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ดังนั้นใครเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินเหล่านั้น ข้อมูลประวัติการชำระหนี้สินเชื่อก็จะไม่มาที่ระบบเครดิตบูโร
3.ประวัติที่ถูกส่งมายังระบบเครดิตบูโรคือประวัติการชำระหนี้ตามที่ลูกค้ามีบัญชีอยู่ ถ้าจ่ายได้ตามกำหนด ตามสัญญา ข้อมูลจะบอกว่า ไม่ค้างชำระ แต่ถ้าไม่ได้ไปจ่ายด้วยเหตุผลใดก็ตาม รายงานก็จะระบุว่าค้างชำระ ตามความจริง เพราะถ้าคนส่งข้อมูลไม่ดูแลความถูกต้อง ก็จะมีความผิดในการส่งข้อมูลและมีโทษในทางอาญา ดังนั้น ซีอีโอของสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรจะเข้มงวดเรื่องนี้มาก
4.แน่นอนว่าระบบการให้สินเชื่อเรายังไม่ตอบโจทย์ ยังมีคนตัวเล็ก SME ขนาดจิ๋ว ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือถ้าเข้าได้ก็โดนดอกเบี้ยแพง รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลังโควิดที่มีแผลเป็นจากการชำระหนี้ เพราะมีหนี้เสียค้างเกินสามงวด เกิน 90 วัน เวลานี้เศรษฐกิจกลับมาแล้ว แต่แผลเป็นคือเป็นหนี้เสีย เข้าไม่ถึงเพราะกติกาบอกว่าต้องปรับโครงสร้างหนี้ก่อนถึงจะใส่เงินใหม่ หนี้ใหม่เข้าไปได้
5.การจะได้เงินใหม่ หนี้ใหม่ ก็ต้องมีข้อมูลว่ามีรายได้แล้วแน่นอน ไม่ติดค้างชำระหนี้ มีรายละเอียดที่เรียกว่า “ข้อมูลทางเลือก” (Alternative data) เช่น ไม่ค้างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือแม้แต่เป็นลูกจ้าง Platform ส่งของ ส่งสินค้า หรือมีข้อมูลจากผู้ซื้อที่เป็นกิจการของเอกชนขนาดใหญ่ว่าธุรกิจเราเป็นซัพพลายเออร์ของธุรกิจขนาดใหญ่ มียอดขายรายเดือนเท่านั้นเท่านี้ สิ่งเหล่านี้จะมีส่วนไปช่วยขอกู้ได้มันก็จะไปช่วยสมานแผลเป็นจากประวัติชำระหนี้ค้าง เปรียบเหมือนเราต้องการฮีรูดอยล์เอาไปทาแผลเป็นให้ผิวเราดีและสวยใกล้เคียงเดิม แนวคิดนี้ในหลายประเทศทำ เช่น เครดิตบูโรของลาว ที่เอาข้อมูลค่าน้ำค่าไฟเข้าระบบ เครดิตบูโร กัมพูชาเอาข้อมูลเช็คเด้งเข้าระบบ บ้านเราข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในมือกิจการขนาดใหญ่ Platform รัฐวิสาหกิจ ถ้าหน่วยงานเหล่านี้ส่งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินตามคำขอของลูกค้า ในฐานะเจ้าของข้อมูล ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำเป็นขั้นตอนทางดิจิทัลก็จะทัดเทียมประเทศอื่น ๆ เพราะข้อมูลเพิ่มก็จะช่วยให้รู้จักลูกค้าเพิ่ม แต่ในทางกลับกัน ถ้าลูกค้าเหนียวหนี้ ไม่ไปจ่ายหนี้สาธารณูปโภค ก็ไม่ได้สินเชื่อ “แล้วเราต้องมีนโยบายเลือกตั้งครั้งหน้าให้ลบประวัติการค้างชำระหนี้พวกนี้อีกไหม… อันนี้ขอถาม”นายสุรพลระบุ
6.ถ้าเราเอาข้อมูลทั้งระบบเก่าคือประวัติการชำระหนี้ กับข้อมูลทางเลือกใหม่ (อธิบายในข้อ 5) มาผสมกันแบบที่ธนาคารโลกสนับสนุน และบ้านเรามีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานไปดำเนินการมากว่า 5-7 ปีที่แล้วในเรื่อง Ease of Doing business ถ้าเราทำให้จบเวลานั้น เราคงไม่มาพูดกันในเวลานี้ ทั้งนี้ นายสุรพล ระบุว่า การกลับไปลบความจริงที่เกิดขึ้นในการชำระหนี้ขณะนี้ต้องพิจารณาตามความจริงของสถานการณ์กฎหมายที่มีในเวลานี้ว่ากฎหมายในปัจจุบันมีการตีความแล้วว่ายังไม่เปิดช่อง
แนะนำข่าวธุรกิจ อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ชวนลูกค้าสมัครใช้ ‘บิลอิเล็กทรอนิกส์’